วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อารมณ์ของวัยรุ่น....ไม่วุ่นอย่างที่คิด

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ เกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางจิตใจ โดยผ่านกระบวนการพัฒนาการด้านต่างๆ รวมไปถึงการมีเอกลักษณ์ของตนเอง (identity) การมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง (independence) การรู้จักและควบคุมอารมณ์ของตนเอง และการมีมโนธรรมที่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม (conscience) ตลอดจนสามารถมีความรักความผูกพันกับเพื่อนและเพศตรงข้ามได้อย่างเหมาะสม (intimacy) โดยส่วนใหญ่แล้ว วัยรุ่นสามารถผ่านกระบวนการเหล่านี้ไปได้ด้วยดี แต่อาจมีวัยรุ่นบางส่วนที่อาจเผชิญกับปัญหาการปรับตัวเหล่านี้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือปัญหาทางด้านอารมณ์

บรรดาพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ดูแลวัยรุ่น ควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่างๆ ในช่วงวัยนี้ ทั้งด้านอารมณ์ของวัยรุ่นที่ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว อารมณ์วู่วาม หงุดหงิดง่าย ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศ สภาพร่างกายและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อารมณ์ที่พบบ่อยเป็นเรื่องความรู้สึกวิตกกังวล กลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง อารมณ์ทางเพศที่สูงขึ้น พฤติกรรมทางเพศ รวมทั้งกลัวความเป็นผู้ใหญ่ กลัวการรับผิดชอบ การยอมรับจากเพื่อน ความขัดแย้งในการมีอิสระและขอบเขตที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ อาจมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง-ปลายจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ สภาพอารมณ์จะค่อนข้างราบรื่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับวัยแรกรุ่น แต่มีความสนใจถึงความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพศตรงข้ามกับเพื่อน อยากรู้อยากเห็นถึงพฤติกรรมทางเพศ
          
สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือลูกหลานในวัยรุ่นนั้นควรปฏิบัติดังนี้
  1. การปรับทัศนคติ ท่าทีปฏิบัติของพ่อแม่ต่อการดูแลวัยรุ่นแบบเพื่อน ยอมรับ ให้เกียรติและนับถือในตัววัยรุ่น
  2. การรับฟัง พูดคุย ให้ความรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา วัยรุ่นมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้ แต่เขาสามารถควบคุมหรือระบายออกในทางที่เหมาะสมได้ เช่น เรื่องอารมณ์ทางเพศที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจหาทางออกโดยการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอื่นๆ
  3. ให้โอกาสวัยรุ่นแสดงออกถึงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ เช่น การคบเพื่อนต่างเพศ เป้าหมายในชีวิต ความรัก เป็นต้น
  4. สนับสนุนให้วัยรุ่นมีวิธีคลายความกังวล ความเครียด อื่นๆ เช่น กิจกรรมด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา การฝึกผ่อนคลาย
  5. แสดงความชื่นชม เมื่อวัยรุ่นสามารถจัดการอารมณ์ของตนเองและแสดงออกได้ อย่างเหมาะสม
ด้วยวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ตามพัฒนาการ พ่อแม่จึงควรเอาใจใส่และสังเกตลูกของตนอยู่เสมอ โดยอาจสังเกตว่าอารมณ์ที่แสดงออกนั้นเป็นปัญหาหรือไม่ เป็นมาก เป็นอยู่นาน ต่อเนื่องจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียน การทำงาน การใช้เวลาว่าง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและเพื่อนแย่ลงชัดเจนหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาอารมณ์ที่พบบ่อยในวัยรุ่นคือ อารมณ์วิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า หากพบปัญหาหรืออาการเหล่านี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรจะทำความเข้าใจและไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ก่อนจะสายเกินแก้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น