วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พัฒนาการทางจิตใจของวัยรุ่น

ในบทความก่อนเราได้พูดคุยกันถึงเรื่องพัฒนาการทางด้านร่างกายของวัยรุ่นไปแล้ว คราวนี้เรามาดูกันต่อเกี่ยวกับการพัฒนาการอีกด้านก็คือ พัฒนาการทางจิตใจ  (Psychological Development) ครับ

สำหรับการพัฒนาการทางด้านจิตใจจะมีหลากหลายด้านดังนี้ครับ

สติปัญญา(Intellectual Development)  วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น  จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม (Jean Piaget  ใช้คำอธิบายว่า  Formal Operation  ซึ่งมีความหมายถึงความสามารถเรียนรู้  เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ  ได้ลึกซึ้งขึ้นแบบ abstract thinking)  มีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์  สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับจนเมื่อพ้นวัยรุ่นแล้ว  จะมีความสามารถทางสติปัญญาได้เหมือนผู้ใหญ่  แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้  ยังอาจขาดความยั้งคิด  มีความหุนหันพลันแล่น  ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ

ความคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self Awareness)  วัยนี้จะเริ่มมีความสามารถในการรับรู้ตนเอง ด้านต่างๆ   ดังนี้
  • เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นจะเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ  สิ่งที่ตนเองถนัด  ซึ่งจะแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น  ได้แก่  วิชาที่เขาชอบเรียน  กีฬาที่ชอบเล่น  งานอดิเรก  การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน   กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย  โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน  หรือเข้ากันได้   และจะเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง  ทั้งแนวคิด  ค่านิยม  ระบบจริยธรรม  การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต  จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน  และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง   สิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ตนเองยังมีอีกหลายด้าน  ได้แก่  เอกลักษณ์ทางเพศ(sexual  identity  and sexual orientation)  แฟชั่น  ดารา  นักร้อง  การแต่งกาย    ทางความเชื่อในศาสนา  อาชีพ  คติประจำใจ  เป้าหมายในการดำเนินชีวิต   ( Erik Erikson  อธิบายว่าวัยรุ่นจะเกิดเอกลักษณ์ของตนในวัยนี้  ถ้าไม่เกิดจะมีความสับสนในตนเอง Identity  VS  Role confusion )
  • ภาพลักษณ์ของตนเอง (self  image)  คือการมองภาพของตนเอง  ในด้านต่างๆ  ได้แก่   หน้าตา  รูปร่าง  ความสวยความหล่อ  ความพิการ  ข้อดีข้อด้อยทางร่างกายของตนเอง  วัยรุ่นจะสนใจหรือ  ให้เวลาเกี่ยวกับรูปร่าง  ผิวพรรณมากกว่าวัยอื่นๆ  ถ้าตัวมีข้อด้อยกว่าคนอื่นก็จะเกิดความอับอาย 
  • การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น (acceptance)  วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก  การได้รับการยอมรับจะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ    
  • ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่นได้  ทำอะไรได้สำเร็จ
  • ความเป็นตัวของตัวเอง  (independent)  วัยนี้จะรักอิสระ  เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ  ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง   มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง    ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองจะมีสูงสุดในวัยนี้  ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่ายถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี  การได้ทำอะไรด้วยตนเอง  และทำได้สำเร็จจะช่วยให้วัยรุ่นมีความมั่นใจในตนเอง (self  confidence)
  • การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้จะเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด  การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ  เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

อารมณ์ (mood)   อารมณ์จะปั่นป่วน  เปลี่ยนแปลงง่าย  หงุดหงิดง่าย  เครียดง่าย  โกรธง่าย   อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย  อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร  ก้าวร้าว   มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต  ในวัยรุ่นตอนต้น  การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก  บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองอยู่บ้าง  แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  อารมณ์เพศวัยนี้จะมีมาก  ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ  หรือมีพฤติกรรมทางเพศ  เช่น  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง   ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้  แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัญหา  เช่น  เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น

จริยธรรม (moral development) วัยนี้จะมีความคิดเชิงอุดมคติสูง(idealism)  เพราะเขาจะแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้แล้ว  มีระบบมโนธรรมของตนเอง   ต้องการให้เกิดความถูกต้อง  ความชอบธรรมในสังคม  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ต้องการเป็นคนดี  เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น    และจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม  หรือในบ้าน  แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว  บางครั้งเขาจะแสดงออก  วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่หรือ ครูอาจารย์ตรงๆอย่างรุนแรง  การต่อต้าน ประท้วงจึงเกิดได้บ่อยในวัยนี้เมื่อวัยรุ่นเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  หรือมีการเอาเปรียบ เบียดเบียน  ความไม่เสมอภาคกัน   ในวัยรุ่นตอนต้นการควบคุมตนเองอาจยังไม่ดีนัก  แต่เมื่อพ้นวัยรุ่นนี้ไป  การควบคุมตนเองจะดีขึ้น  จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่
 

พัฒนาการทางร่างกายของวัยรุ่น

วัยรุ่น จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กย่างอายุประมาณ  12-13 ปี  เพศหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเพศชายประมาณ 2 ปี และจะเกิดการพัฒนาไปจนถึงอายุประมาณ  18 ปี จึงจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพัฒนาการด้านร่างกายต่างๆ  ซึ่งพัฒนาการทางร่างกาย ( Physical Development ) ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป  และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ   เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศ(sex  hormones)  และฮอร์โมนของการเจริญเติบโต(growth hormone)อย่างมากและรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (physical  changes)   ร่างกายจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงจะไขมันมากกว่าชายที่มีกล้ามเนื้อมากกว่า  ทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

การเปลี่ยนแปลงทางเพศ(sexual  changes)  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน  คือวัยรุ่นชายจะเป็นหนุ่มขึ้น  นมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย  กดเจ็บ)  เสียงแตก  หนวดเคราขึ้น  และเริ่มมีฝันเปียก ( nocturnal ejaculation - การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับและฝันเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ)  การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญานของการเข้าสู่วัยรุ่นของเพศชาย  ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น  คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น  ไขมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รูปร่างมีทรวดทรง  สะโพกผายออก  และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ( menarche)  การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญานบอกการเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง

ทั้งสองเพศจะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ  ซึ่งจะมีขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่  มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  มีกลิ่นตัว  มีสิวขึ้น

อารมณ์ของวัยรุ่น....ไม่วุ่นอย่างที่คิด

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ เกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางจิตใจ โดยผ่านกระบวนการพัฒนาการด้านต่างๆ รวมไปถึงการมีเอกลักษณ์ของตนเอง (identity) การมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง (independence) การรู้จักและควบคุมอารมณ์ของตนเอง และการมีมโนธรรมที่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม (conscience) ตลอดจนสามารถมีความรักความผูกพันกับเพื่อนและเพศตรงข้ามได้อย่างเหมาะสม (intimacy) โดยส่วนใหญ่แล้ว วัยรุ่นสามารถผ่านกระบวนการเหล่านี้ไปได้ด้วยดี แต่อาจมีวัยรุ่นบางส่วนที่อาจเผชิญกับปัญหาการปรับตัวเหล่านี้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือปัญหาทางด้านอารมณ์

บรรดาพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ดูแลวัยรุ่น ควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่างๆ ในช่วงวัยนี้ ทั้งด้านอารมณ์ของวัยรุ่นที่ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว อารมณ์วู่วาม หงุดหงิดง่าย ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศ สภาพร่างกายและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อารมณ์ที่พบบ่อยเป็นเรื่องความรู้สึกวิตกกังวล กลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง อารมณ์ทางเพศที่สูงขึ้น พฤติกรรมทางเพศ รวมทั้งกลัวความเป็นผู้ใหญ่ กลัวการรับผิดชอบ การยอมรับจากเพื่อน ความขัดแย้งในการมีอิสระและขอบเขตที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ อาจมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง-ปลายจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ สภาพอารมณ์จะค่อนข้างราบรื่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับวัยแรกรุ่น แต่มีความสนใจถึงความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพศตรงข้ามกับเพื่อน อยากรู้อยากเห็นถึงพฤติกรรมทางเพศ
          
สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือลูกหลานในวัยรุ่นนั้นควรปฏิบัติดังนี้
  1. การปรับทัศนคติ ท่าทีปฏิบัติของพ่อแม่ต่อการดูแลวัยรุ่นแบบเพื่อน ยอมรับ ให้เกียรติและนับถือในตัววัยรุ่น
  2. การรับฟัง พูดคุย ให้ความรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา วัยรุ่นมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้ แต่เขาสามารถควบคุมหรือระบายออกในทางที่เหมาะสมได้ เช่น เรื่องอารมณ์ทางเพศที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจหาทางออกโดยการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอื่นๆ
  3. ให้โอกาสวัยรุ่นแสดงออกถึงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ เช่น การคบเพื่อนต่างเพศ เป้าหมายในชีวิต ความรัก เป็นต้น
  4. สนับสนุนให้วัยรุ่นมีวิธีคลายความกังวล ความเครียด อื่นๆ เช่น กิจกรรมด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา การฝึกผ่อนคลาย
  5. แสดงความชื่นชม เมื่อวัยรุ่นสามารถจัดการอารมณ์ของตนเองและแสดงออกได้ อย่างเหมาะสม
ด้วยวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ตามพัฒนาการ พ่อแม่จึงควรเอาใจใส่และสังเกตลูกของตนอยู่เสมอ โดยอาจสังเกตว่าอารมณ์ที่แสดงออกนั้นเป็นปัญหาหรือไม่ เป็นมาก เป็นอยู่นาน ต่อเนื่องจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียน การทำงาน การใช้เวลาว่าง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและเพื่อนแย่ลงชัดเจนหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาอารมณ์ที่พบบ่อยในวัยรุ่นคือ อารมณ์วิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า หากพบปัญหาหรืออาการเหล่านี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรจะทำความเข้าใจและไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ก่อนจะสายเกินแก้.

อารมณ์ทางเพศของวัยรุ่น

ลักษณะอารมณ์ของวัยรุ่นที่สำคัญคืออารมณ์รักในเพศตรงข้าม และการมีอารมณ์ทางเพศ ประกอบกับมีความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองและเลียนแบบ ดังนั้นวัยรุ่นจึงเป็นวัยที่เสี่ยงต่อปัญหาเรื่องเพศถ้ามีความรู้เรื่องเพศ ที่ไม่ถูกต้อง และขาดความนึกคิดที่ดี ไม่มีเหตุผลวัยรุ่นจะเริ่มมีความสนใจต่อเพื่อนต่างเพศมากขึ้นซึ่งอาจจะเริ่ม จากการเป็นเพื่อนรู้จักกัน แล้วจึงค่อยพัฒนาขึ้นเป็นความรักมีความต้องการที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนอก จากนี้ยังมีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่วัยรุ่นมี อารมณ์ทางเพศ คือ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ปัญหารักร่วมเพศ ปัญหาการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่ออนาคต การเรียน ต่อตนเองและครอบครัว

การควบคุมอารมณ์ทางเพศ

          อารมณ์ทางเพศเป็นความต้องการทางธรรมชาติชนิดหนึ่งของมนุษย์เพื่อการดำรงเผ่า พันธุ์ แต่ควรอยู่ในภาวะที่เหมาะสม การควบคุมอารมณ์เพศจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาและ ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่ยอมรับในการมีเพศสัมพันธ์กันได้หลังจากการแต่งงานแล้ว

วิธีควบคุมอารมณ์ทางเพศ
ให้ความสนใจกับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จในการดำเนินชีวิตในอนาคต
  1. หลีกเลี่ยงการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจากสื่อต่างๆที่เป็นสิ่งเร้าทำให้เกิด อารมณ์ทางเพศเช่นหนังสือต่างๆการดูภาพยนตร์ หรือวีดีโอที่ยั่วยุอารมณ์ทางเพศหรือไม่ควรอยู่ตามลำพังกับเพื่อนต่างเพศใน ที่ลับตาคน
  2. สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเช่นดนตรีกีฬาหรือวาดรูปเพื่อจะได้เบี่ยงเบนความ สนใจจากอารมณ์ทางเพศและยังทำให้ สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีด้วย

ยินดีต้อนรับสู่ Blog อารมณ์ของวัยรุ่นครับ :)

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่  Blog อารมณ์ของวัยรุ่น ครับ ซึ่ง Blog นี้เราต้องการที่จะให้คุณได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของวัยรุ่นเพื่อที่เราจะได้เข้าใจถึงสิ่งที่วัยรุ่น คิด ทำ พูด หรือแสดงออก เพื่อที่เราจะได้ปรับตัวเข้าหา และช่วยให้วัยรุ่นรู้สึกว่า เขามิได้เป็นคนที่แปลกแยกออกจากสังคม เพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนทุกวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขครับ

หากคุณมีข้อแนะนำหรือบทความที่น่าสนใจ ท่านสามารถแนะนำมาได้นะครับ เรายินดีเปิดรับทุกความเห็นและทุกบทความที่เกี่ยวกับอารมณ์ของวัยรุ่นครับ :)